เวลา 09.15 น. วันที่ 3 ส.ค.2562 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จไปยังสำนักงานเทศบาลเมืองทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ทรงเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำตรัง โดยในปี 2561 สำนักงานเทศบาลเมืองทุ่งสง เทศบาลตำบลถ้ำใหญ่ และเทศบาลตำบลที่วัง ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำตรัง และประสบปัญหาน้ำป่าไหลหลาก ได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายชุมชนเตือนภัยพิบัติ ของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง ภาฯ ยามยาก สภากาชาดไทย เพื่อถอดบทเรียนการเตือนภัยของชุมชนต้นแบบ และเรียนรู้หลักการจัดการภัยพิบัติในการจัดทำแผนปฏิบัติการเตือนภัย เห็นว่าข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ และมีความจำเป็นในการเฝ้าระวังและเตือนภัยสถานการณ์น้ำ สำนักงานเทศบาลเมืองทุ่งสง ได้จัดสรรงบประมาณจัดตั้งศูนย์ฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤต ด้วยการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำ และบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากภัยพิบัติ สร้างระบบเตือนภัยชุมชน ให้สามารถบรรเทาภัยพิบัติในพื้นที่ของตน โดยเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสนองพระดำริที่ทรงให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังป้องกันภัย เพื่อลดความสูญเสียและความทุกข์ยากแก่ประชาชน
จากนั้น ทรงฟังบรรยายสรุปการแก้ปัญหาน้ำท่วมหลากของตำบลถ้ำใหญ่ เมื่อปี 2560 และการดำเนินงานเครือข่ายชุมชนเตือนภัยพิบัติ 8 ชุมชนจากทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง สงขลา ระยอง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ และสกลนคร ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 เกิดฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มเป็นวงกว้าง พื้นที่ตำบลถ้ำใหญ่ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะชุมชนบ้านน้ำรอบ หมู่ที่ 9 จำนวน 189 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง มีฐานะยากจน ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก หน่วยงานภาครัฐ ส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ได้เข้าช่วยเหลือในเบื้องต้น รวมถึงมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง ภาฯ ยามยาก สภากาชาดไทย ได้จัดถุงยังชีพพระราชทาน จัดตั้งคลังยา คลังอาหาร และโรงครัวพระราชทาน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมทั้งประสานงานการก่อสร้างบ้านพักถาวร 39 หลัง ให้แก่ราษฎรกลุ่มดังกล่าว บนที่ดินของผู้มีจิตศรัทธา จำนวน 4 ไร่ โดยคัดเลือกราษฎรที่ได้รับความเสียหายบ้านพังทั้งหลังเข้าอาศัย นอกจากนี้ มีการติดตั้งโทรมาตรสำหรับติดตามระดับน้ำและปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ลำน้ำ พร้อมขยายเครือข่ายวิทยุเตือนภัยชุมชน และจัดทำแผนโครงสร้างน้ำ ผังน้ำ และสมดุลน้ำ จัดสร้างฝายชะลอน้ำ ปลูกหญ้าแฝกบริเวณพื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องกันดินถล่ม และช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอีกทางหนึ่ง
โอกาสนี้ ทรงเยี่ยมราษฎรในตำบลถ้ำใหญ่ ที่ไปเฝ้ารับเสด็จ สร้างความปลาบปลื้มแก่ราษฎรเป็นอย่างยิ่ง
เวลา 12.34 น. เสด็จไปทรงติดตามการดำเนินงานศูนย์การจัดการภัยพิบัติตำบลเกาะขันธ์ อำเภอชะอวด ซึ่งชุมชนร่วมจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 หลังประสบอุทกภัยบ่อยครั้ง โดยมีคณะทำงาน อาสาสมัคร เครื่องมืออุปกรณ์ กองทุน และเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่าย สามารถช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ของตน และพื้นที่อื่นได้ ซึ่งมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง ภาฯ ยามยาก สภากาชาดไทย ได้รับศูนย์การจัดการภัยพิบัติตำบลเกาะขันธ์ เป็นต้นแบบเครือข่ายชุมชนเตือนภัยพิบัติอีกชุมชนหนึ่ง นอกจาก 16 ชุมชนทั่วประเทศ มีการดำเนินงานสำคัญ อาทิ การจัดให้มีอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีจิตสาธารณะ มีความรู้ความเข้าใจการจัดการวางแผน และช่วยเหลื